Thursday, November 29, 2012

หลวงตาประจักษ์ ธัมมปทีโป



         คนดีที่โลกน่าชื่นชม และเอาเป็นแบบอย่างเพราะ รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ ธรรมะ มากกว่าชีวิตตน ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ และความถูกต้อง เพื่อหวังเพียงแค่ได้เห็นร่มเงาของป่าไม้อยู่คู่ผืนป่า ต่อสู้กับอธรรม ถึงแม้ท่านจะอยู่ในเพศบรรพชิตก็ตาม
      
         "พระประจักษ์ ธัมมปทีโป" ..... ชื่อนี้เมื่อย้อนกลับไปเมื่อสมัยยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครไม่รู้จักท่าน เพราะท่านเป็นพระที่ดังพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งตามหนังสือพิมพ์หลายฉบับอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวัน ท่านเป็นพระนักอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้า ไม่ยอมให้นายทุน และราชการเข้ามาทำลายป่าดงใหญ่ด้วยความเด็ดขาด จนต่อมาป่าดงใหญ่ที่ท่านปกป้องรักษาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของประเทศไทยในวันนี้

         หลวงตาประจักษ์ ธัมมปทีโป หรือชื่อในเพศฆราวาส นายประจักษ์ เพชรสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ที่บ้านแพะ ต.ปากข้าวสาร อ.เมือง จ.สระบุรี ท่านเกิดตรงกับวันลอยกระทงในปีนั้น คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งในวันที่ท่านเกิด ตรงกับปรากฏการณ์ จันทรุปราคา ท่านเป็นคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้องทั้งสิ้น 6 คน ในวัยเด็กเข้าเรียนที่ โรงเรียน วัดบำรุงธรรม จ.สระบุรี ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วบวชเป็นสามเณรอยู่ที่เสาไห้ เป็นเวลา 2 ปี



         "ตอนเด็กๆฉันเห็นพระธุดงค์ เดินผ่าน ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงตะวันใกล้ตกดิน ภาพที่เห็นคือ แสงของพระอาทิตย์ เป็นประกายฉายแสงอยู่เป็นฉากหลังให้แก่คณะพระธุดงค์ มันช่างเป็นภาพที่สวยจับใจยิ่งนัก ฉันจึงได้อธิฐานว่าในวันหนึ่งฉันจะบวชเป็นพระให้ได้ " (พระประจักษ์)

           สิ่งนี้ที่ท่านกล่่าวมานี้ ทางธรรมะ เรียกว่า "อธิฐาน บารมี"
หลังจากที่ท่านสิกขาออกมาจากการเป็นสามเณร แล้วก็เร่ร่อนหางานทำไปเรื่อย อาทิ ขายขนมปัง ไอศกรีม รับจ้างทำงานสารพัด จนกระทั่งอายุ 16-17 ปี ได้เข้าทำงานกับบริษัทนายจ้างฝรั่ง "เรมอนคอนสตรัคชั่น" ทำหน้าที่เป็นคนงานสร้างถนนสายสระบุรี - โคราช, สายพิษณุโลก - หล่มสัก, สนามบินอู่ตะเภา, เขื่อนยันฮี จ.ตาก เป็นต้น รวมถึงยังได้ทำงานเป็นลูกมือกุ๊กฝรั่ง ทำอาหารอยู่ในครัว จึงได้มีโอกาสฝึกพูดภาษาอังกฤษจากงานที่ทำ

          ท่านเป็นหนุ่มรูปร่างใหญ่ ล่ำสัน ผิวคล้ำ พูดจาเสียงดัง พูดจริงทำจริง เด็ดเดี่ยว ภายหลังเมื่อมีปัญหาถูกยิงจากลูกหนี้ที่แพ้พนัน ครั้นรักษาพยาบาลหายดีแล้ว อายุ 39 ปี จึงตัดสินใจบวช

         "พอตอนอายุสามสิบกว่า เคยไปทวงหนี้คนที่เสียพนันฉัน แล้วเขาก็ยิงฉันจนบาดเจ็บสาหัส เลยตั้งใจว่า ถ้ารอดตายจะบวชเพื่อแม่" (พระประจักษ์)

          ท่านบวชปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ อ. แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อปี 2521 ชื่อทางธรรม            คือ  พระประจักษ์ คุตตจิตโต   เริ่มฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อคำตัน ขณะนั้นได้เริ่มปลูกป่ากว่า 500 ไร่ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและญาติธรรม มาช่วยดูแล จากนั้นท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปี ไม่ว่าจะจาริกขึนเหนือ ลงใต้ นับตั้งแต่ ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จนถึงแม่ฮ่องสอน แวะเวียนพำนักตามที่ต่างๆ อาทิเช่น ถ้ำเขากระเจียว, ถ้ำเขาลูกช้าง,  อีกทั้งยังไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านพุทธทาส, หลวงปู่ชา สุภัทโท, หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี, หลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จนถึงพรรษาที่ 11 ก็ไปพำนักอยู่ที่ถ้ำเจีย จ.ลพบุรี จำพรรษาอยู่นานถึง 7 ปี
          ช่วงที่เดินธุดงค์ในปี พ.ศ. 2532 ท่านและพระรูปอื่นๆ ได้ธุดงค์ผ่านป่าดงใหญ่ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ท่านได้พบสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ที่บริเวณเขาหัวผุด อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนดงใหญ่ มีอาณาเขตพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำมูล ท่านได้เล่าว่า บริเวณนี้ยังมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก อาทิ กระทิง วัวแดง เสือ และหมูป่า แม้กระทั่งบางครั้งท่านเห็นไก่ฟ้าพณาลอ อีกด้วย
ชาวบ้านได้มอบป่าเขาหัวผุดที่สมัยนั้นพวกเขาได้เข้าไปจับจอง ให้แก่หลวงตา เพื่อหวังว่าจะสามารถยับยั้งการทำลายป่าแห่งนี้จากหน่วยราชการได้

         ในขณะนั้น กลุ่มข้าราชการหลายกลุ่ม และนายทุน ได้เข้ามาบุกรุกทำลายป่า เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายนำเอาต้นยูคาลิปตัส ไปปลูก อ้างว่าเป็นไม้เศรษฐกิจ สร้างรายได้ดี และตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำไม้ใหญ่จากป่าส่งออกขาย ส่งผลให้ป่าถูกทำลาย โล่งเตียนเป็นบริเวณกว้าง กลายเป็นดงมันสำปะหลัง
          ทหารในเครื่องแบบหลายนายได้เข้ามาบังคับให้ชาวบ้านและหลวงตาออกจากพื้นที่นี้ให้หมด โดยอ้างว่าที่แห่งนี้เป็นเขตป่าเสื่อมโทรม แต่ถึงแม้กระนั้น หลวงตาก็ยังยืนยังที่จะอยู่ เพื่อต่อสู้รักษาผืนป่าโดยได้ทำ "พิธีบวชป่า" คือ การนำเอาผ้าเหลืองมาผูกต้นไม้ แล้วล้อมไว้ด้วยสายสิญจน์ ประกาศให้เป็นเขตอภัยทานห้ามบุกรุกทำลายป่า ซึ่งนับว่าเป็นการบวชป่าครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งยังเป็นการรวมตัวชาวบ้านนับพันคน เพื่อช่วยกันปกป้องผืนป่า

            

          การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านและนายทุน เป็นไปอยู่หลายปี โดยมีพระและรัฐบาล เป็นแนวร่วมของแต่ละฝ่าย ในปีแรกๆ ที่พำนักสงฆ์ โดนกระสุนปืนจากอาวุธสงครามนานาชนิด  อาทิ เอ็ม 79, และปืนอาก้า ระดมยิงเข้าใส่ จนขนาดต้องมีบังเกอร์เพื่อหลบกันกระสุนปืน ไม่ต่างกับอยูาในสมรภูมิรบ เพื่อเป็นการขับไล่หลวงตาให้ออกจากพื้นที่นี้เสีย ท้ายที่สุดท่านถูกทางการแจ้งจับในข้อหา "บุกรุกป่าสงวน" 
ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2534 ท่านได้ถูกจับ และส่งเข้าเรือนจำเพื่อหวังจะให้ท่านสึก แต่ทนายความเตือนว่าอย่าเพิ่งสึก เพราะถ้าเมื่อออกจากคุกแล้ว ท่านจะถูกฆ่า
          เมื่อท่านออกจากคุกได้ไม่นาน ท่านก็ยังถูกฟ้องอีก ซึ่งเป็นคดีถึง 7 คดี จนในที่สุดก็ถูกกดดันให้หนีออกจากพื้นที่ และสิกขาบทในปี พ.ศ. 2537 ที่บ้านเกิดของท่านเอง สร้างความตกตะลึงแก่คนจำนวนมากยิ่งนัก ท่านต้องซุกซ่อนตัว หนีภัยเป็นฤาษีอยู่ตามถ้ำตามป่า บางครั้งก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ( หรือ ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียน และนักวิชาการอิสระ)  พาไปอยู่ตามบ้านมิตรสหาย ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ท่านต้องขึ้นศาลราวๆ 50-60 ครั้ง บางคดี ยกฟ้อง, ถูกปรับ, และรอลงอาญา จนในปัจจุบันพ้นมลทินหมดแล้วทุกคดี

          "ฉันรักธรรมะ และ ธรรมชาติยิ่งกว่าชีวิต ฉันไม่อยากสึก ตอนที่ฉันสึกฉันเสียใจมากถึงกับร้องไห้ อยากเขียนจดหมายลาตาย แต่ในทางกลับกันฉันต้องยืนหยัด สู้เพื่อความถูกต้อง" (พระประจักษ์)

          ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยก่อนที่จะสู้กับคดีป่ายูคาลิปตัส ท่านได้เดินธุดงค์กับหมู่คณะสงฆ์ แล้วโดนรถชนที่ จังหวัด อุตรดิตถ์ แต่ท่านไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร นอกจากปวดท้อง ซึ่งภายหลัง เวลาที่ปวดภายใน ท่านมักจะเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และสมัยนั้นท่านได้ต้มใบ "หนุมานประสานกาย" ดื่มเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จนเมื่อปีนี้ (2555) ก่อนเข้าพรรษา ท่านได้รับการตรวจจากทางโรงพยาบาล ผลจากการเอ๊กซ์เรย์ ปรากฏว่า ท่านกระดูกซี่โครงหัก 3 ซี่ ซึ่งรวมแล้วก็เป็นเวลานานกว่า 9-10 ปี จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น


          ท่านได้กลับมาบวชอีกครั้ง และได้ชื่อทางธรรม คือ พระประจักษ์ ธัมมปทีโป ซึ่งเป็นการบวชครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2547 ที่วัดป่าธรรมชาติ อ. หางดง จ. เชียงใหม่  จำพรรษาอยู่ 1 ปี จากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัด เศรษฐพล ภูลังกาเหนือ อ. บึงโขงหลง จ. บึงกาฬ จนถึงปัจจุบัน มีพระมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมด้วย 8 รูป สามเณร 1 รูป แม่ชี 5 คน และชีพราหมณ์ 3 คน (ข้อมูลเมื่อ กันยายน พ.ศ. 2555) 
ข้อปฏิบัติของวัด คือ เดินลงจากเขาออกบิณฑบาต ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ฉันอาหารมื้อเดียว ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เจริญสมาธิ เดินจงกรม เป็นกิจวัตร 

         
         แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดร้างอยู่ประมาณ 7-8 ปี แต่ด้วยความที่ใจรักธรรมชาติ, รักสัตว์, รักเด็กและเยาวชน เพราะการที่เราปลูกฝังจิตสำนึกเด็กที่ดี จะส่งผลให้อนาคตของชาติเจริญมั่นคง ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านจึงฟื้นฟูพัฒนาผืนป่าแห่งนี้ด้วยการหาต้นกล้ายางนามาเพาะปลูกทุกปี ปีละ 600-700 ต้น โดยปลูกเสริมตามพิ้นที่ป่าเสื่อมโทรม  ทั้งยังปลูกเป็นแนวกันชนระหว่างสวนยางพาราของชาวบ้าน กับเชิงเทือกเขาภูลังกา ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชาวบ้านหลายหมู่บ้านเพื่อมาช่วยกันดูแลรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับวัดและสำนักสงฆ์ในบริเวณเทือกเขาภูลังกานี้มากกว่า 40 แห่ง จนในที่สุดป่าเสื่อมโทรมก็ถูกฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และในปีนี้ (พ.ศ. 2555) ท่านได้เพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าภายในบริเวณวัดด้วยการปลูก ต้นตะเคียนทอง 
          
          คณะกรรมการมรดกโลกองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้อนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 29  (The 29 the Session of the World Heritage Committee) ระหว่าง 10-17 กรกฎาคม 2548 ณ กรุงเตอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 148 ประเทศ ประกาศให้เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เป็นส่วนหนึ่งของดงป่าพญาเย็น-เขาใหญ่ มีเนื้อที่เกือบ 4 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ      

และเป็นที่น่าปิติอย่างยิ่งเมื่อปี 2551 คณะกรรมการลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 10 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุนอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกาศมอบรางวัลบุคคลดีเด่นให้แก่หลวงตาประจักษ์ ในฐานะบุคคลที่ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิต ดูแลรักษาผืนป่าอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แม้ว่าจะถูกกล่าวหา, สังคมมองท่านในแง่ลบมาเป็นเวลา 18 ปี หรือประทุษร้ายก็ตาม 
          ฉายา "วีรบุรษในผ้าเหลือง" หรือ  "นักรบที่ถูกทอดทิ้ง" เป็นฉายาของท่านที่ทางคณะกรรมการตัดสินรางวัลลูกโลกสีเขียวตั้งให้ เพราะเหตุที่ท่านเป็นพระภิกษุรูปแรกที่มีแนวคิดปฏิบัติกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม มุ่งมั่นทำงาน ต่อสู้เสี่ยงตาย เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และบ่งชี้ให้เข้าใจว่า             "คนอยู่กับป่าได้ " เป็นจุดเชื่อมของคนชั้นกลางได้เข้าใจถึงวิธีอนุรักษ์ป่าอย่างแท้จริง


         หลังจากที่ฟังเทศน์จากหลวงตาประจักษ์ ก็ได้รับประโยชน์และแง่คิดดีๆมากมายเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันอันแสนจะวุ่นวายน่าปวดหัว แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านฝากไว้ทิ้งท้ายให้เป็นข้อคิดเล็กๆน้อยๆแก่ทุกคน ก็คือ
                                      
      "ทำสิ่งใดก็ตามจงทำโดยไม่หวังผลประโยชน์ แล้วธรรมชาติมันจะตอบแทนเราเอง 
        จงปล่อยให้ธรรมชาติตัดสิน แล้วเมื่อนั้น เราจะพบความสุขที่แท้จริง "

    

หลวงพ่อประจักษ์

เมื่อแม่น้ำลำธารแห้งเหือดหาย
ป่าไม้บันไลไม่เหลือ
และผืนดินอีสานมีแต่เกลือ
ทั้งหาดทรายชายฝั่งยังทำลาย

โอ้มนุษย์สุดแสนจะบัดซบ
ล้างผลาญโลกาวอดวาย
ด้วยเหตุผลเพราะคนโลภทำร้าย
กัดกินใช้กันแค่ชาติเดียว

ให้เหตุการณ์นี้เป็นอุทธาหรณ์
ให้สอนใจคนไทยจดจำ
ว่าป่าไม้ดงใหญ่แห่งประคำ
มีเหตุการณ์ให้จำให้ใส่ใจ

โอ้มนุษย์หลุดพ้นกิเลสแล้ว
ได้ยึดแนวแห่งองค์พระสัมมา
สละสุขหาได้สละป่า
โมทนา หลวงพ่อประจักษ์

เป็นพระสงฆ์องค์เดียว
โดนขังเดี่ยวอยู่ในเรือนจำ
เป็นพระสงฆ์องค์เดียว
ก้มลงกราบแทบเท้าอาญา

ดงใหญ่เย็นย่ำค่ำมีปืนคอยไล่ยิง
มีคนรังแกป่า รังแก...ประชาชน

คือหลวงพ่อประจักษ์รักษาป่าดงใหญ่
คือหลวงพ่อประจักษ์รักป่าดงใหญ่

เมื่อใคความเป็นธรรมแห้งเหือดหาย
เมื่อใดการกฎหมายเราตกต่ำ
นึกถึงป่าดงใหญ่เมืองประคำ
มีเหตุการณ์ทรงจำในหัวใจ

โอ้มนุษย์ทุกคยกิเลสหนา
จะมีใครยืนท้าอันตราย
เท่าหลวงพ่อโอบผ้าเหลืองพันโคนไม้
รักษาไว้ให้มนุษย์เป็นพุทธธรรม

เป็นพระสงฆ์องค์เดียว
โดนขังเดี่ยวอยู่ในเรือนจำ
เป็นพระสงฆ์องค์เดียว
ก้มลงกราบแทบเท้าอาญา

คือหลวงพ่อประจักษ์รักป่าดงใหญ่...






















ผู้มีจิตศรัทธา สมารถโอนเงินเข้าบัญชีหลวงตาได้โดยตรงที่  :
พระประจักษ์ ธัมมปทีโป 
ธนาคารกรุงไทย สาขาเซกา 430-0174121 
ที่อยู่ : วัดเศรษฐพล ภูลังกาเหนือ ต.ดงบัง อ.บึงโขงหลง จ. บึงกาฬ 43220
โทร​  :  089 422 8998


ขอขอบคุณ
บทสัมภาษณ์โดยตรง : จาก หลวงตาประจักษ์ ธัมมปทีโป
บทความ : "วันนี้ของหลวงพ่อประจักษ์" ของคุณ ไตรเทพ ไกรงู
หนังสือ : รางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2551
บทเพลง : หลวงพ่อประจักษ์  จากวงคาราบาว
สารคดีโทรทัศน์ : คุยกับแพะ
ข้อมูลทาง : Internet, google search

เรื่องและภาพ : นริศรา ด้วงทา และทีมงาน โอปะนะ

http://www.facebook.com/pages/หลวงตาประจักษ์-ธัมมปทีโป

http://www.facebook.com/SetthapholTemple



No comments:

Post a Comment